นิวรณธรรม 5 ประการ

คือสิ่งที่ขวางกั้นไม่ให้จิตใจของเราไปสู่เป้าหมาย หรือบรรลุธรรมได้ ที่เรียกกันว่านิวรณ์ห้าประการ การที่เราตามดู ตามรู้ สภาวธรรมอยู่ทุกขณะ หรืออยู่เนืองๆ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การตามรู้ดูสภาวธรรมนั้นอยู่ เป็นการที่จะทำให้เรานั้น ได้พ้นจาก นิวรณธรรมห้าประการ อันที่จะตัดรากถอนโคน ของสิ่งที่มาขวางกั้นจิตใจเรา ไม่ให้เราไปถึงดวงดาวได้

ฉะนั้นในภาวะของการปฏิบัติ ทุกขณะ ทุกอารมณ์ ทุกจังหวะ ทุกท่วงทีที่เราเดินไป จิตของเราย่อมอาศัยกายอยู่เสมอ เมื่อจิตใจอาศัยกายอยู่ สภาวะที่เกิดขึ้นกับกายก็ดี สภาวะที่เกิดขึ้นกับจิตใจก็ดี ล้วนแต่เป็นสภาวะที่จะต้องศึกษาให้เกิดความเข้าใจ

การที่เราจะศึกษาให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ ต้องอาศัยอำนาจของสติ หากเราขาดซึ่งสติแล้วไซร้ สภาวธรรมทั้งหลายก็ไม่ปรากฏ เพราะสติไม่มี การกำหนดพิจารณาก็ไม่เกิด เมื่อการกำหนดพิจารณาไม่เกิดแล้ว สภาวะใดก็ตามที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด สภาวะนั้นก็เลื่อนลอยไหลไป ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วก็ทำให้เราไม่สามารถกำหนดสภาวะนั้นได้ว่า เป็นอย่างไรๆ ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย อุปมาเหมือนดั่งเด็กที่เกิดใหม่ไร้เดียงสา เด็กที่เกิดมาหรือเด็กที่มีชีวิตเป็นเด็กอยู่ ไม่รู้อนาคต ไม่รู้อดีต ไม่ติดในอดีต ไม่ติดในอนาคต ทำปัจจุบันเท่านั้นพอ พอไม่พอใจอยากได้สิ่งใดก็ร้องไห้ ร้องไห้ เรียกร้องเอา ฉันใดก็ฉันนั้น จิตของผู้ปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน จงทำจิตใจของเราเหมือนเด็ก เหมือนเด็กที่ไร้เดียงสา ไม่พะวงหลงละเมอในอดีต ไม่ติดเพ้อฝันในอนาคต เอาปัจจุบันเท่านั้นสำคัญกว่า การกำหนดจิตต่างๆ ไม่ต้องไปนึกคิด ตัดภาวะความกังวล ความห่วงหาอาทรต่างๆทิ้งไป เอาปัจจุบันในการกำหนดอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เท่านั้นพอ

นิวรณธรรม

๑ .กามฉันทะ คือ พอใจในกามคุณ

การติดในเรื่องของกามคุณทั้งห้า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามไม่เว้นแม้แต่บุตร ภรรยาสามีก็ดี นั้นก็เป็นภาวะกามอีกส่วนหนึ่ง ส่วนกามที่เราติดอยู่ในภาวะการติดในความสุข ติดในรูป อยากจะดูรูปสวยๆ อยากฟังเสียงเพราะๆ อยากลิ้มรสอาหารอันอร่อยโอชะ อยากนอน อยากนั่งในที่สุขสบายในห้องแอร์เย็นๆ นั้นแหละคือการติด ถ้าไม่นั่งในห้องแอร์ไม่ได้ กรรมฐานไม่เกิด สมาธิไม่มี นั้นถึงว่าการติด เรียกว่าติดในกามคุณทั้งห้า นิวรณ์ หรือ นิวรณ แยกตามรากศัพท์ นิ ตัวนี้แปลว่าเข้า นิ แปลว่าออกและแปลว่าลง คำว่า วรณะ แปลว่าสิ่งที่สร้างขึ้น สิ่งซึ่งเกิดในใจอย่างมั่นคงถาวร เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของผู้ใดแล้ว ย่อมไม่สามารถจะเกิดวิชาความรู้ขึ้นได้ในจิตสันดานนั้นๆ เพราะตัวนิวรณ์เป็นตัวขวางกั้นจิตไม่ให้นึกคิดในเรื่องของปัญหา มีแต่นึกคิดในเรื่องของกามคุณอันตกต่ำ นิวรณธรรมเกิดขึ้นในผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะทำให้ตกต่ำ แม้แต่พระราชามหากษัตริย์ ก็ตกต่ำ คนทั่วไปเมื่อติดในนิวรณ์แล้ว ก็ทำลายตระกูลตนเองได้ ทำลายศักดิ์ศรีของตนได้ ฉันใดก็ฉันนั้น กามนิวรณ์ กามะฉันทะประการที่หนึ่งนี้จึงไม่เลือกชั้นวรรณะ จะเกิดกับใครก็ได้ทุกๆขณะ แม้ครั้งพุทธกาลก็เกิดขึ้นมาแล้ว

๒. พยาปาทะ หรือพยาบาทนิวรณ์ คือการคิดร้ายต่อผู้อื่น 

บุคคลใดที่เกิดความพยาบาทขึ้นในใจ มีความโกรธ ความอาฆาตไว้ในใจ บุคคลนั้นจะไปไม่ถึงไหน ในเบื้องต้นที่สุดจะไปสู่อบาย ทุคติวินิบาตนรก ไปสู่อบายภูมิเป็นสัตว์นรกเพราะโทสะจริต ทำผิดในขณะที่เรานั้นตายไป จิตใจยังเป็นโทสะ ยังเป็นพยาบาทอยู่ ก็ตายไปเกิดเป็นสัตว์นรก ตกทุกข์ทรมาน นั้นภาวะที่เกิดขึ้นกับพยาบาทนิวรณ์

๓. ถีนมิทธะ หรือถีนมิทธะนิวรณ์ คือความหดหู่ ซึมเซา

อันไม่เกิด ขึ้นกับใคร เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติ ถีนมิทธะแปลว่าความง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม วันนี้โยมได้เกิดขึ้นแล้วกับทุกๆคนเลย นั่งกรรมฐานก็อยากจะเป็นกรรมถอน อยากจะลุกไป อยากจะออกกรรมฐาน เพราะมันง่วงนอน ตัวถีนมิทธะคือเซื่องซึม เดินก็แล้ว อาตมาให้นั่ง ให้นอน ลุกขึ้นมานั่งมันก็ยังง่วงอีก นี่แสดงว่ากรรมฐานเป็นยานอนหลับ นั่นคือยาวิเศษ ใครที่นอนไม่หลับต้องนั่งกรรมฐานนะ แล้วจะนอนหลับ ไม่ต้องไปกินยานะ โยมบอกเขาด้วย ใครที่นอนไม่หลับให้มานั่งกรรมฐาน นั่งกรรมฐานแล้วยังไม่หลับ อ่านหนังสือธรรมะ นอนอ่าน รับรองเลยหายไปเมื่อไหร่ไม่รู้หลับง่ายสบาย นั่นแหละตัวถีนมิทธะ เป็นการที่ทำให้เราง่วงนอนเซื่องซึมแก้ยังไง

เรื่องพระโมคคัลลานะ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าเภสกฬามิคทายวัน ใกล้สุงสุมารคิระนคร แคว้นภัคคะ ส่วนท่านมหาโมคคัลลานะนั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นพระมหาโมคคัลลานะ นั่งโงกง่วงอยู่ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ทรงเสด็จไปปรากฏเฉพาะหน้าท่านมหาโมคคัลลานะ ณ บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดแล้ว ครั้นแล้วได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า “ดูกรโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ ดูกรโมคคัลลานะ เธอง่วงหรือ” ท่านมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “อย่างนั้นพระเจ้าข้าฯ”

“ดูกรโมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแล เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอ พึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม ตามที่ตนได้สดับแล้ว ได้เรียนมาแล้วด้วยใจ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอ พึงสาธยายธรรม ตามที่ตนได้สดับมาแล้ว ได้เรียนมาแล้วโดยพิสดาร ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ เธอพึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัว ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างตาเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงทำในใจถึงเอาโลกสัญญา ตั้งความสำคัญในกลางวันว่า กลางวันอย่างไร กลางคืนอย่างนั้น กลางคืนอย่างไร กลางวันอย่างนั้น มีใจเปิดเผยอยู่ฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายรวมเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีใจไม่คิดไปในภายนอก ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงได้ ถ้าเธอยังละไม่ได้ แต่นั้นเธอพึงสำเร็จสีหไสยา คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้น พอตื่นแล้วพึงรีบลุกขึ้น ด้วยตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบความสุขในการนอน ความสุขในการเอนข้าง ความสุขในการ เคลิ้มหลับ ดูกรโมคคัลลานะเธอพึงศึกษาอย่างนี้แลฯ”

พระพุทธเจ้าก็แก้ให้พระโมคคัลลานะ พระพุทธเจ้าเห็นแล้วทรงเมตตาสงสารเหมือนโยมนี่ละ อาตมาก็ไม่รู้จะทำยังไง พอนั่งสามนาที สิบนาที เริ่มแล้ว ลมมันเย็น พอลมมันเย็น จิตมันสงบ จิตมันสงบมันจะเชื่อมโยงกัน จิตต่อจิตขนิกสมาธิ จิตจะไปอุปจารสมาธิ กำลังเบาสบายพองหนอ ยุบหนอ หายพอง หายยุบแล้วไปไหน หลับนะ นั่นจับอาการไม่ทัน เพราะการกำหนดภาวนาของเรา จิตมันอ่อน พอสติอ่อน มันก็ทำให้เราหลับ พอหลับแล้วยังไง โยมก็จะฝืน ฝืนเท่าไร ก็ฝืนไม่ได้ งั้นโยมต้องกำหนดแก้ทันที กำหนดมาที่เบ้าตาสองข้าง ง่วงหนอๆ เอาไม่อยู่ ง่วงหนอ รู้หนอ ง่วงหนอ รู้หนอ ง่วงหนอ รู้หนอ ง่วงหนอ รู้หนอ เอาไม่อยู่ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ต้องเสริมสติขึ้นมา ถ้าบอกว่าง่วงหนอ.... ง่วงหนอ.... ไม่ต้องห่วงมันเลย ง่วงแล้วหลับสนิทเลย ยังงั้นไม่ได้ ต้องขยันกำหนด เสริมสติขึ้นมา ง่วงหนอ รู้หนอ ง่วงหนอ รู้หนอ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ง่วงหนอ รู้หนอ นั่งหนอ ต้องกำหนดขึ้นมาให้ทัน ให้เร็วขึ้น มันจะแก้ได้ ถ้ามันแก้ไม่ได้มันง่วงก็ลูบหน้า เอามือลูบหน้าเสีย ลูบตามตัวตามแขน ถ้าลูบไล้แล้ว มันยังง่วงอีกก็เอามือแหย่เข้าไปที่หู ดึงหู ไม่ต้องกลัวมันขาดหรอก หูเราขาดก็ช่างมันนะ มันง่วงอีกก็ดึงผม มันง่วงอีกลุกเลย ไปล้างหน้ากลับมานั่งใหม่ ไปอาบน้ำ อาบน้ำแล้วมันยังง่วงไปนอนเลย ไปนอนสักสามนาที ห้านาที ตื่นขึ้นมา มาเดินใหม่ เดินจงกรมทำสมาธิใหม่ อินทรีย์มันอ่อน พอมานั่งใหม่ หลับแล้วมานั่งใหม่ ก็ยังง่วงอีกนะ ที่โยมง่วงนะ ก็ใช้วิธีใหม่ไปเดินข้างล่าง วิ่งเลย ซ้ายหนอ ขวาหนอ ซ้ายหนอ ขวาหนอ ซ้ายหนอ ขวาหนอ ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา เดินเร็วๆกลับไปกลับมา ขึ้นมานั่งง่วงอีกมันเอาไม่ไหว ขออนุญาตนั่งหันหน้า นั่งใกล้ๆเหลี่ยมเสา นะ ใครง่วงขอเสาเป็นที่พึ่งเป็นอาจารย์ คนละเหลี่ยม มีสี่เหลี่ยมมีสี่เสา สี่ สี่ สิบหก นี่ได้สิบหกคนเลย นะนั่งหันหน้าเข้าหาเสา ใกล้ๆนะโป้กเดียวละ รับรองว่าตื่น นั่นคือวิธีแก้ ต้องหาอุบายวิธีแก้ ถ้าไม่แก้เราจะติดไปตลอด 

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่านและรำคาญใจ

กำหนดอะไรไม่ถูก จับต้นชนปลายไม่ได้ เกิดความฟุ้งซ่าน เพราะอะไร เพราะเราไม่ได้กำหนดภาวนา มันเผลอหลับ พอเผลอหลับ พอมาตั้งหลักได้สติขึ้นมาหน่อย อาการปวดก็มา เวทนาเกิดปวดหนอๆ ปวดที่ขา บางครั้งเวียนศีรษะ บางครั้งเหนื่อยเหมือนจะเป็นลม บางครั้งเหงื่อซึมออกมือเลย สังเกตดูโยมแล้วหลายคน ทั้งๆที่อยู่ในห้องแอร์ นี่คือภาวะที่มันเกิดขึ้นจากสภาวะจิตกับกายไม่สมดุลย์กัน ไม่ไปทิศทางเดียวกัน ต่อมาอีกมันก็เกิดอาการกำหนดรู้ไม่เท่าทัน การกำหนดรู้ไม่เท่าทัน ว่าอะไรคืออะไร จับต้นชนปลายไม่ถูกเขาเรียกว่าฟุ้งซ่าน มันคิดเรื่องต่างๆมาเป็นขบวน ไม่รู้หรอกว่าคิดเรื่องอะไร ฝั่งซ้ายเมื่อเช้านี่คิดมากเลย ขึ้นมาเป็นควันไฟขึ้นเลย ความคิดขึ้นสมอง ขึ้นศีรษะ คิด ไม่รู้ว่าคิดเรื่องอะไร มันขึ้นมาหมดเลย ฉะนั้นโยมต้องกำหนดไว้ เสริมสติให้ทัน รู้หนอๆ คิดหนอ รู้หนอ คิดหนอ รู้หนอ คิดหนอๆ กำหนดคิดให้มากขึ้น กำหนดให้มากขึ้น ให้ไว้ขึ้น รู้หนอ คิดหนอ รู้หนอ คิดหนอ รู้หนอ นั่งหนอ คิดหนอ รู้หนอ ต้องเสริมขึ้นมาให้ทัน ตามทำมันให้ทันเป็นเงาตามตัว ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะฟุ้งไปเรื่อยๆ ไหลไปทั่ว จนสุดท้ายไม่รู้จะกำหนดอะไร ลืมตามองเพื่อนเลยคราวนี้ ทำไมเขาเงียบจัง เกิดความวิตกกังวล เวลานอนให้นอน กรรมฐานก็เหมือนกัน พลางคิดว่า ทำไมเงียบจังลืมตามองดูเพื่อนอีกแล้ว นั้นเพราะความวิตกกังวล ฉะนั้นโยมจะต้องตัดจิตตัดใจ ทำไปอย่าเผลอสติ ตัดจิตตัดใจ กำหนดไป อย่าเผลอสติ มันจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ต้องกำหนดให้ทัน เอาปัจจุบันทันที พอมันคิดก็กำหนดคิดหนอทันที พอมันคิดไปแล้วค่อยกำหนดคิดหนอ ไม่ทัน มันไปหลายโยชน์แล้ว ไม่ทัน เรามาคิดตามทีหลัง มันก็ไม่ได้ปัจจุบันอารมณ์ พอไม่ได้ปัจจุบันอารมณ์ นั่นแหละ มันจะทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความทุกข์มากขึ้น กรรมฐานพองหนอ ยุบหนอปวดมากขึ้นๆ เพราะสติมันขาดช่วง ขาดตอน การกำหนดสติต้องให้เป็นเส้นด้าย เส้นตรง เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันเลย อย่าขาด อย่าเผลอ

เมื่อเรากำหนดแล้วขาดสติ เผลอสติเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ตัวนิวรณ์ไม่ว่าจะเป็นเวทนา ไม่ว่าจะความง่วงเหงาหาวนอน ไม่ว่าจะเป็นความคิดจิตนาการไปเรื่องต่างๆ ไปหมดเลย มันไหลมาเหมือนขบวนรถไฟเลย มาแล้วเราเอาไม่อยู่ พอเราเอาไม่อยู่ กำหนดไม่ทันเป็นยังไง จิตมันอึดอัดทรมาน หดหู่ วุ่นวายไปหมดเลย เมื่อไหร่อาจารย์จะพาเลิก เมื่อไรอาจารย์จะพาหยุด ทำไมนั่งนานจัง วันนี้นั่งแค่สามสิบนาที ดูหน้าโยมโอ้โฮ เหมือนอมทุกข์มาร้อยชาติ ดูแล้วก็สงสารเลย ไม่รู้เป็นอย่างไร บอกว่าทำ ปล่อยใจผ่อนคลายๆ ทำใจโล่งๆ การผ่อนคลายทำใจโล่งๆนี้ โยมคอยมองดูที่ท้อง หรือจับความรู้สึกที่ท้อง มันพองก็บอกว่าพอง มันยุบก็บอกว่ายุบเท่านั้นเอง กำหนดหนดปัจจุบันอาการ มันพองก็บอกว่าพอง มันยุบก็บอกว่ายุบ ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่นไม่ต้องไปสั่งการให้มันเป็นอย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนี้ เรามีหน้าที่กำหนดตามรู้ ตามดู ตามเห็นให้ได้ปัจจุบัน ให้ทันปัจจุบันเท่านั้นพอ ไม่ต้องให้มันอยากเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องอยากเป็นอย่างนี้ พอโยมอยากเป็นเท่านั้นแหละ มันก็ต่อต้านกัน มันไม่เป็นตามที่โยมคิด เมื่อไม่เป็นตามที่โยมคิดมันก็ตามมาอีก

๕. วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัย

ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มาสอนให้พองหนอ ยุบหนอ มันจะถูกหรือเปล่า เอามาจากไหน ใครสอนหนอ คิดถึงแล้วพระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้หรือเปล่า ความคิดลังเลสงสัย ติดสมองตัวเองเลย แล้วมาวันนี้คิดผิดหรือคิดถูกหนอ ตรง "หนอ" มันได้บุญตรงไหน มันตัดภพตัดชาติอย่างไร หนอคำเดียวสั้นๆเนี๊ยนะ เหมือนกับเรา
อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ รู้อะไร รู้ว่าชาติภพมันทุกข์ทรมาน ฉันจะตัดชาติภพเสียเลย ก็โอ้เข้าใจแล้วหนอโล่งเลย มองดูโล่งเลย หนอ คำเดียวสั้นๆนี้ ได้ปัจจุบันอารมณ์ ตัดภพชาติให้เรา ไม่ตกนรกเจ็ดชาติเลยทีเดียว มันตัดขาดไปเลยเป็นขณะๆ ถ้าเราบอกง่วงหนอ หลับเลยไม่ต้องตัดแล้ว ถ้าเรากำหนดง่วงหนอ สติตื่นปัญญาเกิด จิตมีพลัง นั่นตัดความง่วงออกไปด้วยหนอสั้นๆ แต่ต้องให้ต่อเนื่องกัน กำหนดไปยาวๆ ฉะนั้นคำว่า หนอ เป็นคาถาดีมากๆ วิชานี้เป็นวิชาปิดนรก ปิดนรก เปิดสวรรค์ เปิดพรหม เปิดนิพพาน แต่ไม่ให้ไปสวรรค์นะ ให้ไปพรหมโลก

ฉะนั้นตัว นิวรณธรรมห้าประการ ถ้าผู้ใดหลีกหนีได้ ผู้นั้นจะไปเป็นพระอรหันต์ ผู้ใดหลีกหนีไม่ได้ ผู้นั้นจะมีแต่ความทุกข์ทั้งชาติ ทุกข์เพราะการไปยึดในกามคุณ

วัดป่าเจริญราช
สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดปทุมธานี แห่งที่ ๑๓
"สำนักปฏิบัติธรรมดีเด่น แห่งคณะสงฆ์ภาค ๑ เขตการปกครองคณะสงฆ์หนกลาง ประจำปี ๒๕๖๕"
๑๒/๑๙ คลอง ๑๑ ตำบลบึงทองหลาง อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๕๐
 ๐๒-๙๙๕-๒๑๑๒

สำนักปฏิบัติธรรมวังแก้ว
๑๔๔ หมู่ ๑๐ ตำบลไทรย้อย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ๕๔๑๑๐

สถานปฏิบัติธรรมแม่วังกาญจนา
ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน ลำปาง ๕๒๑๖๐
๐๙๓-๒๔๙-๙๔๕๙
fb48x48 ศูนย์ปฏิบัติธรรมแม่วังกาญจนา

Wat Buddha Oregon (วัดพุทธออเรกอน)
8360 David Lane SE, Turner, OR, United States, Oregon
 +1 503-391-9866
fb48x48 WatBuddhaOregon

สวนป่าลานธรรม (วัดป่าภาวนาวิสุทธิ) สาขาวัดป่าเจริญราช
ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

ศิษย์วัดป่าเจริญราช @Watpacharoenrat วัดป่าเจริญราช @Watpacharoenrat